Thai ESG คือ อะไร วันนี้มีคำตอบ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ควบคู่ไปกับตัวเลขด้านผลกำไร รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน ด้วยการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งหากมีเงินและพร้อมถือหน่วยลงทุนได้ 8 ปี อีกทั้งมีความมั่นใจต่อตลาดหุ้นไทยและตราสารหนี้ ESG ในระยะยาว ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ความเป็นมาของ กองทุน Thai ESG 2567
ความเป็นมาของกองทุน Thai ESG นั้น เกิดจากแนวคิดและความต้องการผลักดันการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน อีกทั้ง การคำนึงถึง ESG ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)”
ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์ของ ESG เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน จากนั้นในปี 2563 รัฐบาลได้ออกแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Thailand’s Sustainable Development Plan เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน
เป็นการเน้นย้ำจุดยืนการมุ่งพัฒนา ESG ในไทย ถือเป็นก้าวสำคัญของการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ได้เปลี่ยนชื่อ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” เป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมทั้งประกาศผลการประเมินในรูปแบบ ESG Ratings เป็นปีแรก อีกทั้ง มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
เพื่อเป็นทางเลือกลงทุนเพื่อออมให้กับนักลงทุนเพิ่มเติมจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทั้งนี้ กองทุนรวม Thai ESG โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวม 22 แห่งได้เสนอขายกองทุนรวม Thai ESG ให้กับนักลงทุนทั่วไป
นโยบายการลงทุนของ ThaiESG อัปเดต 2567
กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ที่ผู้ออกเป็นกิจการ หรือภาครัฐไทยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีตั้งแต่ 80% ของ NAV ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ดังนี้
1. หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET บนกระดานหลัก หรือกระดาน mai ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET หรือองค์กรหรือสถาบันอื่นที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม Environment หรือด้านความยั่งยืน Environmental, Social and Governance: ESG
2. หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET บนกระดานหลัก หรือกระดาน mai ที่มีการเปิดเผย ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมทั้งจัดให้ มีการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ
3. ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม green bond ตราสารเพื่อความยั่งยืน sustainability bond หรือตราสารส่งเสริมความยั่งยืน sustainability – linked bond
4. พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย หรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน หรือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน
5. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรือ investment token ที่ออกตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เป็นโทเคนดิจิทัลสำหรับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หรือ โทเคนดิจิทัลสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน หรือ โทเคนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของโทเคนดิจิทัล จะเป็นไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
กองทุน Thai ESG ลงทุนในอะไรบ้าง ?
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้มีการจัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืนที่เรียกว่า SET ESG Ratings สำหรับประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนไทย ล่าสุดในปี 2023 มีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือก 193 บริษัท แบ่งเป็น
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AAA มีจำนวนทั้งสิ้น 34 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AA มีจำนวนทั้งสิ้น 70 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ A มีจำนวนทั้งสิ้น 64 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ BBB มีจำนวนทั้งสิ้น 25 บริษัท
ขณะที่ ESG Bond มีรูปแบบคล้ายกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป ต่างกันที่วัตถุประสงค์ของการระดมทุนที่ต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) สังคม (Social Bond) และความยั่งยืน (Sustainability Bond)
กองทุน Thai ESG ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
กองทุน Thai ESG ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ
วงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
เท่ากับว่าเราจะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจาก Thai ESG ไปเลย 100,000 บาท และเมื่อนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ก็จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 600,000 บาท
ระยะเวลาการลงทุน Thai ESG ต้องถือลงทุนเป็นเวลา 8 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน) ซื้อปีไหน ลดหย่อนปีนั้น และไม่บังคับว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
เช่น ถ้าซื้อ ThaiESG ในวันที่ 25 ธันวาคม 2023 วันที่ครบกำหนด 8 ปี คือวันที่ 25 ธันวาคม 2031 แปลว่าเราจะขายกองทุนโดยไม่ผิดเงื่อนไขได้ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 26 ธันวาคม 2031