เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ในกรุงเทพฯ ก็ฝนตกหนักทุกวัน อีกทั้งบางพื้นที่ก็มีน้ำท่วมอีกต่างหาก แล้วเรานั้นก็จำเป็นที่จะต้องผ่านเส้นน้ำท่วมโดยที่เรานั้นเลี่ยงไม่ได้ วันนี้เราเลยรวบรวม ขับรถน้ำท่วม อย่างไรให้ปลอดภัย รถไม่ดับ
ขับรถน้ำท่วม อย่างไรให้ปลอดภัย รถไม่ดับ
- ประเมินความสูงของระดับน้ำ
สิ่งแรกที่คนขับรถต้องกระทำเมื่อพบว่าด้านหน้ามีน้ำท่วมขัง นั่นคือการประเมินสถานการณ์โดยจะต้องคาดการณ์ความสูงของระดับน้ำให้ได้ ปกติทั่วไปขอบฟุตบาทจะสูงจากพื้นถนนประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร จากนั้นให้มาประเมินความสูงของรถที่ตนเองขับอยู่
โดยรถเก๋งจะมีความสูงจากพื้นถนนถึงท้องรถประมาณ 15 เซนติเมตร รถกระบะปกติ รถ SUV รถ CUV และรถเอนกประสงค์ความสูงจากพื้นถนนถึงท้องรถประมาณ 22 – 25 เซนติเมตร หากประเมินดูแล้วน้ำท่วมแค่ครึ่งฟุตบาทหรือประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร ก็สามารถที่จะลุยได้ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าท่วมใกล้เคียงขอบฟุตบาทรถเก๋งอาจพิจารณาหลีกเลี่ยงผ่านเส้นทางดังกล่าว เพราะมีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นทะลักเข้าภายในห้องโดยสารและเครื่องยนต์ได้ เนื่องจากเวลาที่รถขับไปมาจะเกิดคลื่นซึ่งระลอกคลื่นตัวนี้จะชนเข้ากับตัวรถและทำให้น้ำเข้ารถนั่นเอง
- ขับช้า ๆ
หลังจากที่ประเมินความสูงของระดับน้ำที่ท่วมขังเป็นที่เรียบร้อยและมั่นใจว่าท้องรถด้านล่างอยู่สูงกว่าระดับน้ำที่ท่วม ให้ขับรถผ่านบริเวณน้ำท่วมอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการเกิดคลื่นไปกระทบกับรถคันอื่น ๆ หรือคลื่นไปกระทบกับฟุตบาทแล้วสะท้อนกลับมาหารถจนได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ยังต้องพยายามเบรกรถย้ำ ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของเบรก เพราะหากปล่อยให้แช่น้ำนาน ๆ โดยไม่กระตุ้นการทำงานอาจทำให้ผ้าเบรกจับจานเบรกไม่อยู่ ส่งผลเมื่อขับรถพ้นพื้นที่น้ำขังแล้วจะทำให้รถเบรกไม่อยู่
- ปิดเครื่องปรับอากาศ
หากจำเป็นต้องขับลุยน้ำท่วมที่สูงเกิน 10 เซนติเมตร เป็นต้นไปโดยเฉพาะรถเก๋ง แนะนำให้ปิดเครื่องปรับอากาศทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่ท่วมขังและแรงคลื่นของน้ำจากรถคันอื่นจะไม่มาโดนใบพัดแอร์จนทำให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งเครื่องปรับอากาศภายในรถทำงานด้วยระบบไฟฟ้าหากมีน้ำเล็ดรอดหรือโดนน้ำจากพัดลมที่พัดใส่ก็จะทำให้แอร์เสียได้
- ใช้เกียร์ต่ำ
นอกจากจะต้องขับรถช้า ๆ แล้ว การเลือกใช้เกียร์ต่ำก็มีส่วนสำคัญ เพราะจะช่วยให้รถไม่ดับง่ายเหมือนเกียร์สูง อีกทั้งเกียร์ต่ำยังมีแรงมากกว่านั่นเอง หากเป็นรถเกียร์กระปุกควรใช้เกียร์ 1 – 2 ในขณะที่รถเกียร์อัตโนมัติให้ใช้เกียร์ L เป็นต้น
- รักษาระยะห่างคันข้างหน้าให้มาก
เมื่อต้องขับรถลุยน้ำท่วมให้พยายามรักษาระยะห่างคันข้างหน้าให้มาก เพราะเมื่อรถอยู่ในน้ำจะทำให้ระบบเบรกทำงานด้วยประสิทธิภาพต่ำหรือมีการลื่นไถลได้ การรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าจึงมีความจำเป็นอย่างมาก อาจเว้นระยะห่างตั้งแต่ 40 – 50 เมตร เป็นต้นไป เพื่อความปลอดภัยและไม่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
หากเรานั้นผ่านพ้นมาแล้ว แล้วหลังจากนั้นหล่ะ เราก็ได้รวบรวมวิธีดูแลรถหลังน้ำท่วมมาฝากด้วยนะ
- ระบบเบรก ระบบเบรกเป็นสิ่งแรกที่ควรตรวจสอบก่อน เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมากที่สุด เวลาที่ขับรถลุยน้ำหรือแช่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน เมื่อขับพ้นพื้นที่น้ำท่วมให้ทำการจอดรถเพื่อทำการเหยียบเบรกย้ำ ๆ สัก 3 – 5 ที เพื่อให้การทำงานของเบรกและผ้าเบรกกลับมาเป็นปกติ
- ระบบแอร์และระบบไฟฟ้า หลังจากที่ขับรถผ่านพ้นพื้นที่น้ำท่วมอย่าเพิ่งเปิดแอร์ในทันที ควรขับรถไปสักระยะหนึ่งเพื่อให้ห้องเครื่องแห้งจากนั้นค่อยเปิดแอร์ หากแอร์ทำงานดีเป็นปกติถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าพบว่าแอร์ไม่เย็น มีเสียงดัง หรือมีไฟสัญญาณแจ้งเตือนผ่านหน้าปัดรถยนต์ ให้ทำการนำรถเข้าตรวจเช็กโดยช่างจะเป็นการดีที่สุด เพราะเป็นไปได้ว่ามีน้ำกระเด็นโดนระบบไฟฟ้าของรถและระบบแอร์
- การทำงานของเครื่องยนต์ ช่วงล่างของรถจะมีรอยต่อของอุปกรณ์สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมันเครื่อง เพลารถ และเกียร์ ควรเช็กและตรวจสอบให้ดีว่ามีน้ำเล็ดรอดเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ผ่านรอยต่อน็อตหรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องยนต์หากพบว่าเครื่องยนต์มีเสียงดังที่ผิดปกติควรนำรถเข้ารับการตรวจสอบที่ศูนย์บริการโดยด่วน เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์หรือระบบขับเคลื่อนได้รับความเสียหาย
- ภายในห้องโดยสาร ถ้าไม่มีน้ำเข้าห้องโดยสารอาจตรวจสอบถึงความอับชื้นและสำรวจให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำเข้าภายในห้องโดยสาร แต่ถ้าน้ำเข้าไปและทำให้พื้นรถเปียกควรนำรถไปตากแดด เปิดประตูรถออกทั้ง 4 ด้าน เพื่อไล่ความชื้น หากพบว่ามีกลิ่นอับหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ควรนำรถไปเข้ารับการดูแลจากคาร์แคร์ที่ได้มาตรฐานพร้อมกับปรึกษาเรื่องการฉีดพ่นกันสนิมภายในและภายนอกรถ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.lazada.co.th