การไหว้ พระธาตุประจำปีเกิด นั้นอยู่คู่กับคนไทยมาเนิ้นนานแต่หลายคนก็ยังไม่ทราบว่าแต่ละปีเกิดของเรานั้นวัดที่ควรไหว้นั้นอยู่ที่ไหน และต้องไปยังไง วันนี้เราเลยรวมมาให้เพื่อนๆ ดูว่าแต่ละปีเกิดนั้นควรจะไปไหว้วัดที่ไหน แล้วแต่ละวัดนั้นอยู่จังหวัดไหนชองประเทศไทยบ้างนะ
พระธาตุประจำปีเกิด อัพเดตปี 2567
1.ปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
ปีชวดเป็นปีแรกของปีนักษัตร มีสัญลักษณ์เป็น หนู พระธาตุประจำปีเกิดนี้ จะได้พระธาตุศรีจอมทอง แห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ ณ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุนี้มีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงใหม่ แม้จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่โตนักแต่ก็งดงาม นอกจากนี้ยังมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาลจนปัจจุบัน
วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 บริเวณที่ตั้ง เป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
2.ปีฉลู วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
ปีฉลู มีลักษณะทางสัญลักษณ์เป็นรูป วัว พระธาตุประจำปีเกิดปีนี้ คือพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พระธาตุแห่งนี้เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมสกุลช่างลำปาง ปรากฏอิทธิพลไทลื้อ วัดพระธาตุลำปางหลวงเลื่องลือในปาฏิหาริย์ของพระธาตุที่สะท้อนเป็นภาพกลับหัวในพระวิหารและมณฑป
วัดพระธาตุลำปางหลวง (ไทยถิ่นเหนือ: ) ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลลำปางหลวงอำเภอเกาะคาจังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผังและส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาท ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และอุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์
3.ปีขาล วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ปีขาล มีสัญลักษณ์เป็นรูป เสือ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ แห่งวัดพระธาตุช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นพระธาตุสำคัญและเป็นพระธาตุประจำเมือง มีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาสกุลช่างเมืองแพร่ สกุลช่างนี้หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแอบแฝงอยู่ ลักษณะทางภายภาพจะมีความชะลูดประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งเป็นเนินเขา จะทำให้คนเห็นได้แต่ไกล
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่
การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต (กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮอยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม 123 ตอนที่ 96 ง วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮ ทำพระสมเด็จจิตรลดา)
4.ปีเถาะ วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ปีเถาะมีสัญลักษณ์เป็นรูป กระต่าย พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง แห่งวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน สกุลช่างเมืองน่านจะปรากฏอิทธิพลล้านนาจากเมืองเชียงรายและอิทธิพลไทลื้อ สำหรับพระธาตุแช่แห้งนี้ โดยรวมเป็นลักษณะช่างล้านนา แต่หากลงลึกในรายละเอียด จะพบฝีมือช้างพื้นเมืองไทลื้อผสมกันอย่างลงตัว พระธาตุแช่แห้งมีทรงค่อนข้างสูง แต่มีความละไมจากเส้นรูปแตกต่างไปจากเมืองแพร่
พระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง (ไทยถิ่นเหนือ: ) วัดพระธาตุแช่แห้ง หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอภูเพียงจังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต
5.ปีมะโรง พระธาตุวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
ปีมะโรง มีสัญลักษณ์เป็น งูใหญ่ อันหมายถึงพญานาคหรือมังกร พระธาตุประจำปีเกิดนี้จะได้แก่ พระธาตุพระสิงห์ แห่งวัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์เป็นวัดใหญ่และสำคัญมากที่อยู่กลางเมือง สถาปัตยกรรมภายในวันนี้จัดว่างดงามมาก ด้วยเป็นฝีมือช่างหลวงของนครเชียงใหม่ พระธาตุจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก และตั้งหลบอยู่ภายใน มีการตกแต่งน้อย ถือว่าเป็นความงามที่เรียบง่าย
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร (ไทยถิ่นเหนือ: ) พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหารตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ฯ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง”
6.ปีมะเส็ง พระมหาเจดีย์พระพุทธคยา วัดอนาลโย จ.พะเยา
ปีมะเส็ง มีสัญลักษณ์เป็น งูเล็ก สำหรับพระธาตุประจำปีเกิดนั้นอยู่ไกลนัก นั่นคือพระมหาเจดีย์พระพุทธคยา ประเทศอินเดีย อันเป็นปูชนียสถานที่ประดิษฐานอยู่ไกล คนโบราณจึงใช้เจดีย์เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่แทน และภายหลังมีการจำลองพระมหาเจดีย์ฯ มาสร้างขึ้นที่วัดอนาลโย จังหวัดพะเยา ซึ่งทำให้คนที่มีศรัทธาจะไปนมัสการทำได้ง่ายขึ้น
วัดอนาลโยทิพยาราม หรือ ดอยบุษราคัม เป็นวัดธรรมยุติกนิกายที่พระธรรมวิสุทธิญาณ (ไพบูลย์ สุมงฺคโล) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) ให้สร้างขึ้นบนดอยบุษราคัม บ้านสันป่าม่วง หมู่ที่ 6 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จากตัวเมืองไปเส้นทางพะเยา-เชียงราย ประมาณ 7 กม.แยกซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1127 ประมาณ 9 กิโลเมตร เพื่อเป็นอุทยานพระพุทธศาสนา มีศาสนสถานที่สวยงามเช่น พระพุทธรูปศิลปสุโขทัยองค์ใหญ่ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางลีลา พุทธคยา เก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลองทำด้วยทองคำ ฯลฯ บรรยากาศร่มรื่น พื้นที่กว้างขวาง แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ จากยอดดอยสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยา และตัวเมืองของพะเยาได้อย่างสวยงามสามารถขึ้นวัดอนาลโยได้ 2 ทางคือ ทางรถยนต์และทางบันได มีที่พักแบบรีสอร์ทอยู่บนวัด
7.ปีมะเมีย พระธาตุชเวดากอง ประเทศพม่า
ปีมะเมีย มีสัญลักษณ์เป็นรูป ม้า พระธาตุนี้จะได้แก่พระธาตุชเวดากอง แห่งเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ (พม่า) เจดีย์นี้มีการต่อเติมมากมายหลายหลัง ทำให้รูปแบบพัฒนาไปเรื่อยๆ ลักษณะสุดท้ายได้มีลักษณะเป็นศิลปะพม่าอย่างเต็มที่ และมีอายุร่วมสมัยทางศิลปะกับรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากเดิมที่เป็นงานศิลปะมอญร่วมสมัยอยุธยาของเรา
เจดีย์ชเวดากอง (พม่า: ရွှေတိဂုံစေတီတော်, ออกเสียง: [ʃwèdəɡòʊ̯ɰ̃ zèdìdɔ̀] ชเวดะโกนเซดีดอ ; มอญ: ကျာ်ဒဂုၚ်) ตั้งอยู่บนเนินเขาสิงคุตตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยคำว่า ชเว (ရွှေ) หมายถึง ทอง, ดะโกน (ဒဂုံ แผลงเป็น တိဂုံ, ภาษามอญเรียกชื่อว่า ตะเกิง) คือชื่อดั้งเดิมของเมืองย่างกุ้ง เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น ยอดสุดขององค์เจดีย์บริเวณลูกแก้วหรือหยาดน้ำค้างประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ และเพชร 5,448 เม็ด ชั้นบนสุดมีทับทิม 2,317 เม็ดและเพชรเม็ดใหญ่ 76 กะรัต เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ ผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมจะต้องถอดรองเท้าทุกครั้ง
8.ปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ปีมะแม มีสัญลักษณ์เป็นรูป แพะ พระธาตุประจำปีเกิดปีนี้คือ พระธาตุดอยสุเทพ แห่งวัดพระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุนี้เป็นพระธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนล้านนา ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมจะเป็นแบบล้านนา-เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนภูเขา ทำให้เจดีย์ดูงดงามและเด่นชัด
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (ไทยถิ่นเหนือ: ) พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย วัดมีความสูงจากระดับที่ราบเชียงใหม่ราว 689 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,046 เมตร เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งหมด
9.ปีวอก พระธาตุพนม จ.นครพนม
ปีวอก มีสัญลักษณ์เป็นรูป ลิง พระธาตุประจำวันเกิดนี้เป็นพระธาตุที่แตกต่างไปจากพระธาตุอื่นๆ ที่กล่าวมา นั่นคือพระธาตุพนม แห่งวัดพระธาตุพนม อำเภอนครพนม จังหวัดนครพนม พระธาตุนี้เป็นพระธาตุที่มีลักษณะพื้นเมืองของอาณาจักรโคตรบูรณ์โบราณ ได้มีการปรับปรุงมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยอยุธยา ในปีพุทธศักราช 2517 ได้ล้มลง ยังความเศร้าโศรกแก่ประชาชนชาวไทย-ลาวเป็นอย่างมาก ต่อมาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ตามลักษณะเดิมแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2519
วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ปัจจุบันมี พระเทพวรมุนี เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม
10.ปีระกา พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
ปีระกา มีสัญลักษณ์เป็นรูป ไก่ พระธาตุประจำปีเกิดจะเป็นพระธาตุหริภุญชัย แห่งวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ศิลปกรรมล้านนา สกุลช่างเมืองลำพูนนี้มีทั้งที่เป็นแบบนี้ปรากฏอิทธิพลลพบุรี(ละโว้) และที่มีอิทธิพลเมืองใหม่ ซึ่งวัดพระธาตุหริภุญชัย จะมีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมในแบบหลัง ซึ่งจะมีลักษณะที่งดงามและลงตัว
วัดพระธาตุหริภุญชัย (ไทยถิ่นเหนือ: ) ในอดีตนิยมเรียก วัดเจดีย์หลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 28 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา วัดพระธาตุหริภุญชัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478
11.ปีจอ พระธาตุจุฬามณี จ.เชียงใหม่
ปีจอ มีสัญลักษณ์เป็นรูป สุนัข พระธาตุประจำปีนี้เดิมเป็นพระธาตุจุฬามณี ซึ่งเชื่อกันว่าจะประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ มาภายหลังได้มีการสร้างพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีที่วัดเกตุการาม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จึงใช้พระธาตุนี้แทน ศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นแบบล้านนารุ่นหลัง
จุฬามณีเป็นชื่อพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศธาตุ (อ่านว่า เกด-สะ -ทาด) คือมวยพระเกศาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดเมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (อ่านว่า มะ -หา-พิ -เนด-สะ -กฺรม) คือออกบวช และพระทาฒธาตุ (อ่านว่า ทา-ทะ -ทาด) คือพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนด้านขวาของพระพุทธเจ้า. จุฬามณีเจดีย์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระธรรมปรีชา (แก้ว) เจ้ากรมอาลักษณ์เรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๔๕ กล่าวว่า พระจุฬามณีเจดีย์นี้ พระอินทร์เป็นผู้สร้าง มีความสูงโยชน์หนึ่ง บรรจุพระจุฬามณีและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า. พระเขี้ยวแก้วนี้ เดิมโทณพราหมณ์ (อ่านว่า โท-นะ -พฺราม) ผู้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะของตน พระอินทร์ทรงเห็นว่าควรนำพระเขี้ยวแก้วนี้ไปไว้ในที่เหมาะสม เพื่อให้เหล่าเทวดาได้สักการบูชา จึงนำไปประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์.
12.ปีกุน พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
ปีกุน มีสัญลักษณ์เป็นรูป สุกร แต่สำหรับคนล้านนาจะใช้ ช้าง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยตุงแห่งวัดดอยตุง อำเภอดอยตุง จังหวัดเชียงราย เมืองเชียงรายเป็นเมืองเก่าแก่ร่วมสมัยกับสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ มีสัญลักณ์ล้านนา ผสานอิทธิพลพื้นเมืองปูชนียสถานในเมืองเชียงราย จะมีขนาดไม่ใหญ่ และมักให้ความรู้สึกสงบและสันโดษ
วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) (ชื่อตามจารึกหินอ่อนที่กรอบประตูพระอุโบสถ) (ไทยถิ่นเหนือ: ) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร
ขอบคุณข้อมูลจาก